การเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning มีความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดเจน

16

ปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จากกระแสที่มาแรงทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศ ณ วันนี้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบริการ WWW (World Wide Web) ได้ก้าวมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน การฝึกอบรม รวมถึงการถ่ายทอดวิชาความรู้ นับเป็นการเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยได้มีการนำคอมพิวเตอร์ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนการสอนมาเป็นเวลานานพอสมควร โดยเริ่มต้นตั้งแต่การใช้คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน วิชาคอมพิวเตอร์ ต่อมาได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอน ที่เรียกว่า สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI (Computer Aided Instruction) ปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายแห่งได้หันมาใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่เรียกชื่อกันแตกต่างหลากหลาย เช่น WBI (Web Based Instruction) WBL (Web Based Learning) หรือ WBT (Web Based Training) เป็นต้น ที่เป็นการจัดระบบการเรียนการสอนเพื่อรับส่งข้อมูล เนื้อหาความรู้ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้รับการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning (Electronis Learning) เป็นรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ

การเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning มีความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดเจน เช่น มีความยืดหยุ่น คือ ผู้สอนสามารถปรับปรุงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลาและสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้เรียนที่สามารถเรียนได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ โดยเฉพาะในปัจจุบันสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตลดลง อีกทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะผู้เรียนสามารถเรียนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปสถานศึกษาหรือที่ทำงาน และที่สำคัญสามารถประเมินผลได้ทันทีว่าผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ คุณภาพของการเรียนการสอนแบบ e-Learning นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างหลักสูตรหรือเนื้อหาที่ต้องเป็นไปอย่างมีลำดับขั้นตอน เข้าใจง่าย ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องไปคิดพึ่งพาผู้สอน  ต้องให้ผู้เรียนได้อ่านและฝึกฝนตำราให้ครบตามแผนที่วางไว้ มีแบบทดสอบเพื่อวัดความเข้าใจทีละขั้นตอน จนแน่ใจว่าผู้เรียนเข้าใจตามเนื้อหาจนครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักสูตร และหัวใจสำคัญที่สุดคือจะต้องมีการสื่อสาร 2 ทางระหว่างผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันเอง